รู้ทัน เข้าใจ อยู่อย่างปลอดภัยกับโรคความดันและเบาหวาน

เมื่อต้นปี 2553 กระทรวงสาธารณสุขไทยเปิดเผยว่า คนไทยป่วยด้วย 5 โรคไม่ติดต่อเรื้อรังอันตราย เพิ่มขึ้นนาทีละ 1 คน โดยในปี 2551 พบผู้ป่วยสะสมจำนวนกว่า 2 ล้านคน และคาดว่ายังมีผู้ป่วยซ่อนเร้นอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อายุต่ำกว่า 40 ปีที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
Better Health ฉบับนี้จึงเน้นไปที่โรคเรื้อรังที่สำคัญ คือ โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ซึ่งไม่เพียงมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากเท่านั้นแต่ยังเป็นสาเหตุที่นำไปสู่โรคแทรกซ้อนร้ายแรงอันเป็นภัยแก่ชีวิตอีกหลายโรค
ความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิต เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกายมนุษย์ ความดันโลหิตเกิดขึ้นเมื่อหัวใจบีบตัวเพื่อสูบฉีดเลือดผ่านหลอดเลือดแดงไปยังส่วนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ความดันจะเพิ่มขึ้นเมื่อหัวใจบีบตัว และลดลงเมื่อหัวใจคลายตัวลง โรคความดันโลหิตสูงเป็นหนึ่งในโรคเรื้อรังที่พบในประชากรส่วนใหญ่ในโลก องค์การอนามัยโลกได้กำหนดไว้ในปี 2542 ว่าผู้ใดมีความดันโลหิตมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิตสูงอันตราย

ความดันโลหิตสูง เป็นภาวะที่เมื่อหัวใจบีบ และคลายตัวแต่ความดันยังคงค้างอยู่ในหลอดเลือด ไม่ลดลงอย่างที่ควรจะเป็นซึ่งพญ. ประภาพร พิมพ์พิไล อายุรแพทย์ อธิบายว่า “การมีความดันโลหิตสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน สร้างความเสียหายแก่หลอดเลือดหลายประการ อาทิ หลอดเลือดแข็ง หลอดเลือดโป่งพอง อีกทั้งยังอาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายอีกหลายโรค”

ความดันโลหิตสูงมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต และโรคเส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง การควบคุมรักษาความดันโลหิตสูงอย่างเหมาะสมจึงมีความสำคัญในการป้องกันโรคแทรกซ้อนที่จะเกิดกับอวัยวะต่าง ๆ ดังกล่าวคือ หัวใจวาย หลอดเลือดหัวใจตีบ โรคไตวายเรื้อรัง อัมพาต และอัมพฤกษ์
สาเหตุ และอาการ

โรคความดันโลหิตสูงซึ่งเกิดขึ้นกับผู้ป่วยส่วนมาก กว่าร้อยละ 85 ไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน และมักสัมพันธ์กับประวัติในครอบครัว เราเรียกโรคความดันโลหิตสูงกลุ่มนี้ว่าเป็น Primary หรือ Essential Hypertension

“ผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงแบบ Primary Hypertension นั้นไม่อาจรักษาให้หายได้ ต้องอาศัยการควบคุม ดูแลอย่างใกล้ชิดร่วมกับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต” พญ. ประภาพรอธิบาย “ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งซึ่งเกิดกับผู้ป่วยส่วนน้อย ได้แก่ Secondary Hypertension หรือโรคความดันโลหิตสูงจากสาเหตุอื่น อาทิ โรคไต โรคที่เกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ (ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต) การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยาสเตียรอยด์ หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ซึ่งหากได้รับการแก้ไขที่สาเหตุ ความดันโลหิตสูงก็จะกลับมาเป็นปกติได้โดยไม่ต้องใช้ยารักษา”

โรคความดันโลหิตสูง ได้รับการขนานนามว่าเป็น “มัจจุราชเงียบ” เสมอมา ทั้งนี้เพราะส่วนมากโรคความดันโลหิตสูงมักจะไม่ปรากฏอาการเตือนใด ๆ ให้ผู้ป่วยได้ทราบเลย “ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่ค่อยทราบว่าตนเองเป็นโรคความดันโลหิตสูงจนกระทั่งมาพบแพทย์ด้วยความเจ็บป่วยอื่น ๆ เมื่อวัดความดันโลหิตจึงพบว่าสูง” พญ. ประภาพรเล่า “จากการสำรวจในประเทศไทยเมื่อสัก 4 - 5 ปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจำนวนมากถึงร้อยละ 20 - 30 ของจำนวนประชากร ซึ่งไม่เคยทราบเลยว่าตนเองเป็นโรคความดันโลหิตสูง มีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยที่อาจพบอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะ มึนศีรษะ ตาพร่า เลือดกำเดาไหล แล้วรีบไปพบแพทย์จึงทราบว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง และได้รับการรักษาเพื่อควบคุมความดันโลหิตก่อนที่จะมีอาการแทรกซ้อนของโรคขึ้น”
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

โรคความดันโลหิตสูงจัดเป็นหนึ่งในโรคเรื้อรังที่มีความร้ายแรง เพราะส่วนมากไม่มีทางรักษาแต่สามารถควบคุมได้ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต และ/หรือรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง

“ค่าความดันโลหิตเป้าหมายในคนปกติไม่ควรเกินกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งเป็นค่าที่ประเมินกันแล้วว่าไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่หลอดเลือดมาก เมื่อไรที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ และมีการวัดความดันซึ่งอ่านค่าได้ 120/80 หรือมากกว่าก็ต้องถือว่าความดันเริ่มจะสูงแล้ว (Pre-hypertension) แต่ยังไม่เป็นความดันสูงเต็มขั้น แพทย์จะแนะนำเรื่องการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูงไปกว่านี้”

ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่อาจปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตได้ หรือปรับแล้ว แต่ความดันไม่ลดลงตามเป้าหมาย แพทย์จึงจะพิจารณาให้ยาที่เหมาะสมต่อไปโดยมีเป้าหมายระยะสั้นอยู่ที่การควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอทและเป้าหมายระยะยาวอยู่ที่การป้องกันภาวะแทรกซ้อนเพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น


ความดันที่เหมาะสม หรือปกติ น้อยกว่า 120 น้อยกว่า 80 ให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยกากใย และการออกกำลังกาย
ความดันโลหิตสูงขั้นต้น
Pre-hypertension 120 - 139 80 - 89
ต้องหมั่นตรวจวัดความดัน รับประทานผักผลไม้ให้มากกว่าเดิม และออกกำลังกาย
อย่างสม่ำเสมอ
ความดันโลหิตสูงขั้นที่ 1 140 - 159 90 - 99 ตรวจวัดความดัน และพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ อาจต้องได้รับยาควบคู่ไปกับการปรับการบริโภค และออกกำลังกายให้มากขึ้น
ความดันโลหิตสูงขั้นที่ 2 160 ขึ้นไป 100 ขึ้นไป ตรวจวัดความดัน จดบันทึก และพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อควบคุมผลกระทบที่อาจเกิดกับอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งระวังเรื่องอาหารให้มาก
งดอาหารเค็ม เน้นผักผลไม้ และออกกำลังกายให้มากขึ้น
* ความดันโลหิตค่าบน หรือความดันซีสโตลี (Systolic Blood Pressure) คือ แรงดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว
** ความดันโลหิตค่าล่าง หรือความดันไดแอสโตลี (Diastolic Blood Pressure) คือ แรงดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว
ปัจจัยที่มีผลต่อความดันโลหิต

ความดันโลหิตมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตามปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

อายุ เมื่ออายุมากขึ้นความดันโลหิตมักสูงขึ้น
เพศ ชายมักพบความดันโลหิตสูงบ่อยกว่าหญิง
พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม ผู้ที่บิดา มารดา มีความดันโลหิตสูง มีแนวโน้มเป็นโรคนี้มากขึ้น
ความอ้วน และขาดการออกกำลังกาย
สภาวะทางอารมณ์ เช่น เครียด โกรธ เจ็บปวด เสียใจ ตื่นเต้น ส่งผลต่อความดันโลหิตทั้งสิ้น ซึ่งสามารถกลับเป็นปกติ เมื่อผ่านพ้นภาวะนั้น ๆ
เชื้อชาติ
อาหาร เช่น เกลือ และส่วนประกอบของเกลือที่อาจนึกไม่ถึง เช่น ซีอิ๊ว น้ำปลา ผงชูรส ผงฟู ก้อนซุปสำเร็จรูปมีรายงานชัดเจนว่าเกลือส่งผล โดยตรงต่อความดันโลหิต
บุหรี่ สุรา และกาแฟ
สมุนไพรบางชนิด เช่น อบเชย
ผลของยา เช่น ฮอร์โมนคุมกำเนิด ยากลุ่ม nonsteroidal anti-inflammation drugs (NSIADs)

พญ. ประภาพรเน้นว่า “ไม่ว่าจะอย่างไรแพทย์ก็อยากให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต และออกกำลังกายซึ่งเป็นวิธีการที่ปลอดภัยที่สุดได้ผลแน่นอน และยังช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคอื่น ๆ ลงไปได้อีกหลายโรค และที่ลืมไม่ได้ คือ ผู้ป่วยจำเป็นต้องหมั่นตรวจวัดความดันอย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามผลการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยยา หรือการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต”
แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในโรคเรื้อรังอันตราย แต่หากคุณตั้งใจจริงที่จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเสียใหม่ โรคความดันโลหิตสูงก็จะไม่เป็นปัญหาสำหรับคุณอีกต่อไป
เบาหวาน

โรคเบาหวานเป็นอีกหนึ่งโรคเรื้อรังอันตรายที่มักพบร่วมกันกับโรคความดันโลหิตสูง องค์การอนามัยโลกระบุไว้ว่าในปีนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 285 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 6.4 ของจำนวนประชากรทั่วโลก และคาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า จำนวนผู้ป่วยจะพุ่งขึ้นเป็น 438 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 7.8 ของจำนวนประชากรทั่วโลก

ในประเทศไทย จากการเก็บข้อมูลของกรมการแพทย์ตั้งแต่ปี 2548 - 2552 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี อีกทั้งพบผู้ป่วยที่อายุน้อยลง ๆ ผศ. นพ. วราภณ วงศ์ถาวราวัฒน์ อายุรแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านระบบต่อมไร้ท่อ (เบาหวาน) ให้ความรู้เรื่องเบาหวานไว้ดังนี้
เบาหวานคืออะไร

“เบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เนื่องจากไม่อาจนำแป้ง และน้ำตาลที่บริโภคเข้าไปมาใช้ได้ เนื่องจาก ประการแรก ตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ หรือได้ไม่มากพอ โดยอินซูลินนี้มีหน้าที่ช่วยส่งผ่านน้ำตาลที่อยู่ในรูปของกลูโคสในกระแสเลือดไปสู่ระบบเนื้อเยื่อต่าง ๆ เพื่อนำไปเผาผลาญ และแปลงเป็นพลังงาน ประการที่สอง เนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ (ไขมัน ตับ กล้ามเนื้อ ฯลฯ) มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน” ผศ. นพ. วราภณกล่าว

ด้วยความผิดปกติทั้งสองประการข้างต้น ส่งผลให้มีน้ำตาลตกค้างอยู่ในกระแสเลือดในปริมาณมาก และหากไม่มีการดูแลรักษาอย่างถูกต้องก็จะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ มากมาย

โดยทั่วไป โรคเบาหวานแบ่งออกเป็น2 ประเภท ได้แก่ เบาหวานประเภทที่หนึ่ง และเบาหวานประเภทที่สอง ซึ่ง ผศ. นพ.วราภณอธิบายต่อว่า “เบาหวานประเภทที่หนึ่งนั้นพบค่อนข้างน้อยประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วยเบาหวานไทย เบาหวานประเภทนี้เกิดจากการที่ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เลย ผู้ป่วยจำเป็นต้องพึ่งการฉีดอินซูลินอย่างสม่ำเสมอ ไม่เช่นนั้นอาจก่อให้เกิดภาวะขาดอินซูลิน และระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากจนกระทั่งหมดสติ และเสียชีวิตแบบเฉียบพลันได้ โรคเบาหวานประเภทที่หนึ่งมักจะพบในเด็กและวัยรุ่น มีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการที่ภาวะภูมิต้านทานทำลายเซลล์ที่สร้างอินซูลินในตับอ่อน นอกจากนี้ ระดับน้ำตาลที่สูงเรื้อรังจะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังต่อไป

ส่วนโรคเบาหวานประเภทที่สองเป็นชนิดที่พบได้บ่อยคิดเป็นร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเบาหวานไทยโดยเฉพาะในกลุ่มคนอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป “เบาหวานประเภทที่สองเกิดจากการที่ตับอ่อนของผู้ป่วยไม่สามารถสร้างอินซูลินให้เพียงพอ และร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลิน” ผศ. นพ. วราภณกล่าว “เบาหวานประเภทนี้มักไม่พบอาการอันตรายอย่างเฉียบพลันเหมือนแบบแรก แต่หากไม่มีการควบคุมให้ดีก็จะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังที่เป็นอันตรายอย่างเฉียบพลันได้เช่นกัน”
คุณเป็นเบาหวานหรือไม่

การตรวจสอบว่าเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ ทำได้โดยการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย และ ได้ผลดี การวินิจฉัยโรคเบาหวานสามารถทำได้โดยอาศัยเกณฑ์การวินิจฉัยดังนี้
มีระดับน้ำตาลในเลือดขณะงดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 8 ชั่วโมง มากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
มีอาการของโรคเบาหวาน ร่วมกับระดับน้ำตาลในเลือดเวลาใดก็ตามมีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
มีระดับน้ำตาลในเลือด มากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ณ 2 ชั่วโมง ภายหลังทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคส 75 กรัมที่รับประทานเข้าไป
มีระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA1c) มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 6.5 ขึ้นไป

“หากผลการตรวจหลังงดอาหารและเครื่องดื่มแล้ว ปรากฏว่ามีน้ำตาลอยู่กระแสเลือด 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เดี๋ยวนี้ก็ถือว่าเริ่มผิดปกติ และมีแนวโน้มว่าจะเป็นเบาหวานเต็มขั้น หากไม่รีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ๆ เป็นที่มาของภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เมื่อประกอบกับภาวะ น้ำหนักเกิน ไขมันสูงและความดันโลหิตสูง ย่อมส่งผลเสียต่อโครงสร้าง และการทำงานของหลอดเลือดทำให้ อวัยวะต่าง ๆ ค่อย ๆ เสื่อมหน้าที่ลง” ผศ. นพ. วราภณกล่าว
อยู่กับเบาหวานอย่างสบายใจ

สำหรับการดูแลและรักษาโรคเบาหวานนั้น ผศ. นพ. วราภณอธิบายว่าการรักษาเบาหวานประเภทที่สอง หากโรคยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ก็สามารถอาศัยการควบคุมอาหาร ลดน้ำหนัก และออกกำลังกายได้ แต่ถ้าเป็นมากขึ้นก็ต้องให้รับประทานยาควบคู่กันไป ส่วนในรายที่ใช้ยาเม็ดแล้วไม่ได้ผลก็ต้องพึ่งยาฉีดอินซูลินเช่นเดียวกับผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่หนึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องเรียนรู้การฉีดอินซูลินด้วยตนเอง เพราะต้องฉีดเองที่บ้านเป็นประจำทุกวัน

เป้าหมายในการรักษาโรคเบาหวานอยู่ที่การควบคุมน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต ไขมันในเลือด และน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ทั้งนี้ ก็เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และอายุที่ยืนยาวขึ้นของผู้ป่วยนั่นเอง

“หากผู้ป่วยปรารถนาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้ป่วย และผู้ดูแลควรมีความเข้าใจว่าเป้าหมายการรักษาคืออะไร และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างถูกต้อง และสม่ำเสมอ ถ้าทำได้ก็จะสามารถอยู่กับเบาหวานอย่างสบายใจ และสบายกายมากขึ้น
ผศ. นพ. วราภณกล่าวปิดท้าย
อาการของเบาหวานที่ต้องสังเกต

เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง คุณอาจมีอาการดังต่อไปนี้
ปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวันและกลางคืน
กระหายน้ำ เนื่องจากสูญเสียน้ำมากจากการปัสสาวะ
อ่อนเพลีย และน้ำหนักลดเนื่องจากร่างกายนำน้ำตาลไปใช้ไม่ได้
หิวบ่อย รับประทานเก่งขึ้น
คันตามตัว ติดเชื้อได้ง่าย เป็นเชื้อรา ตกขาวบ่อย
ตาพร่า เห็นภาพไม่ชัด เห็นภาพซ้อน
ขาชาอันเนื่องมาจากปลายประสาทเสื่อม
ใครบ้างที่เสี่ยงเบาหวาน!

คุณมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภทที่ 2 รวมทั้ง โรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง และ โรคหลอดเลือดสมอง หากคุณ
อายุเกิน 40 ปีขึ้นไป
มีประวัติครอบครัวโรคเบาหวาน
เป็นผู้มีน้ำหนักเกิน หรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 25
มีความดันโลหิต หรือมีน้ำตาลในเลือดสูง (เป็นโรคใดโรคหนึ่ง ความเสี่ยงต่ออีกโรคก็เพิ่มขึ้น) มีระดับไขมันในเลือดสูง
สตรีที่มีประวัติเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือน้ำหนักบุตรแรกคลอดมากกว่า 4 กก.
ไม่ออกกำลังกาย ดื่มสุรา และ/หรือสูบบุหรี่
ปรับนิสัย เปลี่ยนอาหาร รับมือความดัน และเบาหวาน

กุญแจสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ควบคุมและอยู่กับโรคได้อย่างมีความสุข ได้แก่ การควบคุมเรื่องการรับประทานอาหาร และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมซึ่งเรามีคำแนะนำ ดังต่อไปนี้


เลือกรับประทานอาหารจำพวกแป้งจากธัญพืชที่ไม่ขัดสี ในปริมาณที่พอเหมาะ
พยายามงดอาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็นหวาน มัน หรือเค็ม
รับประทานผัก และผลไม้ที่ไม่หวานจัดเพื่อเพิ่มกากใยอาหาร
ควบคุมน้ำหนัก
งดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุรา
ออกกำลังกายเป็นประจำในแบบแอโรบิควันละ30 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ตามคำแนะนำของแพทย์
รับประทานยาเพื่อควบคุมความดันโลหิต หรือเบาหวานตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
ระวังอย่ารับประทานยาใด ๆ เองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะยากลุ่มที่เป็นเสตียรอยด์ ยาฮอร์โมน หมั่นศึกษาหาความรู้ในการดูแลตนเอง
ทำจิตใจให้สงบ และผ่อนคลายความเครียด ไม่โกรธ หรือโมโหง่าย


เขียนเมื่อ 2015-11-05 โดย เว็บมาสเตอร์ เข้าชม 945 ครั้ง